บล็อกนี้จัดทำขึ้นเพื่อประกอบการเรียนรายวิชาอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวัน 0012006

วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

มติป.ป.ช. ชี้ สุเทพ ผิด ใช้ตำแหน่งก้าวก่ายราชการ ก.วัฒนธรรม



ชงวุฒิสภา ตัดสิทธิ์การเมือง 5ปี ขณะที่อภิสิทธิ์รอดเหตุไม่มีมูล
Mthai News ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นว่า กรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส่ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และบุคคลรวม 19 คนไปช่วยราชการกระทรวงวัฒนธรรมนั้น เป็นการใช้ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติราชการของกระทรวงวัฒนธรรม
เพื่อประโยชน์ของตนเอง และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในด้านคะแนนเสียง อันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 268 ประกอบ 266 (1) จึงให้ส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็นไปยังวุฒิสภา เพื่อพิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่ง
ซึ่งจะมีผลให้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ทั้งนี้ ในส่วนคำร้องกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นั้น จากการไต่สวนไม่พบหลักฐานและไม่ปรากฏข้อเท็จจริง จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาไม่มีมูลและให้ตกไป

วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สุรพศ ทวีศักดิ์: พระเวสสันดรละเมิดสิทธิมนุษยชน (?)



บางคนอ่านชาดกเรื่องพระเวสสันดรแล้วรับไม่ได้ เพราะเห็นว่า การบริจาคลูกเมียให้เป็นทาสรับใช้คนอื่นจะเป็นความดีได้อย่าง เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนชัดๆ ยิ่งกว่านั้นหากคิดอย่างมีเหตุผลแล้ว การบริจาคลูกเมียให้เป็นทาสจะถือว่าเป็นความดี หรือบุญบารมีขั้นสูงจนส่งผลให้บรรลุโพธิญาณเป็นพุทธะได้อย่างไร ถ้าพระเวสสันดรเป็นคนอเมริกันคงถูกลูกเมียฟ้องเอาผิดทางกฎหมายแน่ๆ 
แต่บางทีคนที่คิดเช่นนี้ก็ลืมไปว่า เมื่อกว่าสองพันปีที่แล้วมีสังคมอเมริกันหรือยัง หรือมีความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในโลกนี้หรือยัง!
ประเด็นคือ ชาดกเรื่องพระเวสสันดรปรากฏในพระไตรปิฎก ซึ่งหมายความว่า เป็นเรื่องเล่าในกรอบความคิดทางวัฒนธรรมของสังคมศาสนาของชาวอารยันในชมพูทวีปเมื่อกว่าสองพันปีมาแล้ว พระเวสสันดรนั้นมีชีวิตอยู่ในสังคมที่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีอำนาจออกแบบความสัมพันธ์ทางสังคมและกำหนดคุณค่าทางจิตวิญญาณว่า สังคมต้องมีวรรณะ 4 คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร เฉพาะความสัมพันธ์ในครอบครัว สามีเป็นเจ้าของภรรยาและลูก พูดอีกอย่างว่าเมียและลูกเป็นสมบัติของสามีหรือพ่อ การกำหนดสถานะเช่นนี้ทำให้มีข้อผูกพันตามมาว่า เมียและลูกมีหน้าที่ต้องทำตามความประสงค์ของสามีหรือพ่อ
ทีนี้ตัวพระเวสสันดรนั้นก็รับเอาคุณค่าทางศาสนา คือ “ความหลุดพ้น” มาเป็นอุดมการณ์สูงสุดของตนเอง และเนื่องจากผู้เล่าเรื่องนี้คือพุทธะซึ่งเป็นผู้ปฏิรูปวัฒนธรรมฮินดู (ปราชญ์อินเดียอย่าง รพินทรนาถ ฐากูร คนหนึ่งล่ะที่ยืนยันเรื่องนี้) ก็เลยกำหนดให้ความปรารถนาพุทธภูมิหรือการบรรลุโพธิญาณเป็นพุทธะเพื่อสอนสัจธรรมแก่ชาวโลกเป็นอุดมการณ์สูงสุดของพระเวสสันดร ผู้ซึ่งตั้งปณิธานว่า การให้ทานหรือการเสียสละคือความดีอันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อให้บรรลุอุดมการณ์ดังกล่าว
ฉะนั้น เมื่อมองตามกรอบคิดของวัฒนธรรมทางสังคมและคุณค่าทางจิตวิญญาณคือ “ความหลุดพ้น” และผู้หลุดพ้นคือ “บุคคลในอุดมคติ” ซึ่งเป็นที่พึ่งของสังคม อันเป็นอุดมการณ์สูงสุดทางศาสนาในยุคนั้น การเสียสละลูกเมียของพระเวสสันดร จึงเป็นการกระทำที่ดีงามน่าสรรเสริญ
ทำไมคนยุคนั้นถึงเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้ดีงามน่าสรรเสริญ? เราอาจเข้าใจโดยเปรียบเทียบความเสียสละเพื่อส่วนรวมในยุคสมัยของเรา เช่น บางคนอุทิศชีวิตเพื่ออุดมการณ์ที่เขาเชื่อว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม จนต้องละทิ้งครอบครัวเข้าป่าจับอาวุธ ยอมติดคุก กระทั่งยอมสละชีวิต คนเหล่านี้รู้อยู่แล้วว่าการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์นั้นต้องเสี่ยง อาจทำให้เขาต้องพลัดพรากครอบครัว อาจถูกสังคมประณาม ติดคุก ถูกอุ้ม กระทั่งถูกฆ่าตาย แน่นอนว่า สำหรับบางครอบครัวเมื่อขาดผู้นำ ทุกอย่างอาจพังทลายลง เราจะบอกว่าคนเช่นนี้เป็นคนไม่ดี เพราะไม่รับผิดชอบต่อครอบครัวได้หรือ ผมคิดว่าเราคงไม่มองเช่นนั้น แต่เราคิดว่าคนแบบนี้น่านับถือ เพราะเขายอมสละทุกอย่างเพื่ออุดมการณ์ที่เขาศรัทธาซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม
เรื่องพระเวสสันดร เราก็อาจเข้าใจได้ทำนองเดียวกันนี้ คนยุคนั้นเชื่อว่าศาสดาผู้ค้นพบและสอนสัจธรรม/ศีลธรรมเป็นคนอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขแก่สังคม เพราะศาสดามีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่นเท่านั้น หมดภาระที่จะทำอะไรเพื่อตัวเอง ฉะนั้น คนที่ยอมสละทุกอย่างเพื่อจะเป็นศาสดา (พุทธะ) ในอนาคตอย่างพระเวสสันดร จึงเป็นบุคคลที่น่าสรรเสริญ เหมือนกับคนที่เสียสละครอบครัว แม้กระทั่งอิสรภาพของตนเองบนเส้นทางอุดมการณ์เพื่อส่วนรวมในยุคสมัยของเรา ก็คือคนที่กระทำสิ่งที่ทำได้ยากและน่าสรรเสริญเช่นเดียวกัน
สมภาร พรมทา เสนอไว้ใน An Essay Concerning Buddhist Ethics (สรุปใจความได้) ว่า เราสามารถเข้าใจการบริจาคลูกเมียของพระเวสสันดรได้ด้วยการเข้าใจความเป็นมนุษย์ของเขา (“เขา” นี่แปลมาจาก “his” ไม่มีราชาศัพท์) เช่น เมื่อเห็นชูชกโบยตีลูกชายลูกสาว พระเวสสันดรโกรธมากเกือบจะไม่ยอมให้ลูกแก่ชูชกอยู่แล้ว ยิ่งกว่านั้นความเจ็บปวดจากความรักลูกก็ทำให้เขาทุกข์ทรมานใจเป็นทวีคูณ ความโกรธนั้นอาจหายไปได้ในเวลาไม่นาน แต่ความเจ็บปวดโศกเศร้าเพราะต้องสละลูกเมีย ทั้งที่รู้ถึงความทุกข์ทรมานของลูกเมียที่ต้องตกเป็นทาสของคนอื่นนั้นเป็นทุกข์ที่ลึกซึ้งยากที่จะหายไปได้ แต่พระเวสสันดรก็ต้องทำตามอุดมการณ์ที่ตนเชื่อ
ลองเปรียบเทียบกับคนที่เลือกเดินบนเส้นทางอุดมการณ์เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในยุคสมัยของเรา เขาต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในป่า ในคุก ทุกข์ทรมานจากการพลัดพรากพ่อแม่ คนรัก ลูกเมีย ออกจากป่ามาก็เจ็บปวดสับสนกับความพ่ายแพ้ อีกทั้งอาจรู้สึกผิดที่ตนเองละทิ้งความรับผิดชอบต่อครอบครัว เป็นต้น นี่คือความเป็นมนุษย์ที่เราเข้าใจได้ พระเวสสันดรก็มีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน แต่ก็ยอมเสียสละเพื่ออุดมการณ์ที่ตนคิดว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมในยุคสมัยนั้น เช่นเดียวกับคนในยุคเราที่เสียสละเพื่ออุดมการณ์ที่พวกเขาคิดว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมในบริบทปัจจุบัน
แต่ที่สำคัญกว่าคือ ชาดกเรื่องพระเวสสันดรนั้น สอนว่า “ความถูกต้องเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ” แม้ว่าจะต้องเสียสละและเจ็บปวดมากเพียงใดก็ตาม ดังคำกล่าวที่ว่า “พึงสละแม้ชีวิตเพื่อรักษาธรรม” มีชาดกจำนวนมากที่เล่าเรื่องพระโพธิสัตว์ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาธรรมหรือความถูกต้อง พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับ “วิถีที่ถูกต้อง” มาก เพราะคุณค่าชีวิตและอิสรภาพงอกงามออกมาจากการฝึกฝนตนเองตามวิถีที่ถูกต้อง (มรรค/ไตรสิกขา) พระเวสสันดรคือตัวอย่างของผู้ที่เดินทางยากในวิถี (means) สู่เป้าหมายที่ตนเชื่อว่าถูกต้อง
สมมติว่า มียาวิเศษที่กินแล้วทำให้คนพ้นทุกข์กลายเป็นพุทธะได้ทันที พุทธศาสนาย่อมไม่สนับสนุนให้กินยาเช่นนั้นแน่นอน เพราะยาวิเศษไม่สามารถทำให้ชีวิตมีคุณค่าได้ คุณค่าของชีวิตเกิดจากการการใช้เสรีภาพเลือกทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าถูกต้อง ใช้ศักยภาพและความพยายามของเราเองอย่างเต็มที่ แม้จะต้องเผชิญอุปสรรคและความเจ็บปวดใดๆ ก็ตาม แต่โดยการดำเนินชีวิตตามวิถีที่ถูกต้องนั้นเอง ความหมายของชีวิต การเติบโตทางความคิด และจิตวิญญาณจึงอาจงอกงามปรากฏออกมาได้ ฉะนั้น วิถีกับหยุดหมายไม่อาจแยกจากกัน
แต่ก็น่าเสียดาย หากจะมีการเข้าใจผิดๆ ว่า เรื่อง “ทาน” ของพระเวสสันดร และการทำบุญเชิงประเพณีต่างๆ เป็น “ยาวิเศษ” ดลบันดาลทุกสิ่งได้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความปรารถนาสุขส่วนตัว จนทำให้ค่านิยมทำดีของชาวพุทธจำกัดอยู่แค่ “การทำดีตามแบบแผนพิธีกรรม” เพื่อหวังผลดลบันดาลจากยาวิเศษให้ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันเป็นค่านิยม “ทำดีเสพติดยาวิเศษ” จนไม่ลืมตามาดูทุกขสัจจะของสังคม
และทำให้ชาวพุทธปัจจุบันไม่สนใจการ “ทำดีอย่างมีอุดมการณ์” หรือการเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม แม้ว่าตนเองต้องทนทุกข์ดังพระเวสสันดรทำเป็นแบบอย่าง ซึ่งเราอาจนำหลักคิดนี้มาปรับใช้อย่างสอดคล้องกับบริบทปัจจุบันได้ ไม่ใช่รับมาทั้งดุ้น หรือด่วนปฏิเสธอย่างขาดการทำความเข้าใจสาระสำคัญ!

วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ปชป.แนะปชช.แสดงสิทธิ์หากไม่พอใจรัฐ


นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเรียกร้องให้ประชาชนแสดงสิทธิ์ หากไม่พอใจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดนี้ ตามที่ โฆษกพรรคเพื่อไทยระบุไว้ โดยในขณะนี้จะเห็นได้ว่า ประชาชนไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลใน 9 ประการ อาทิ เรื่องการยกเลิกการเก็บเงินจากกองทุนน้ำมัน ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะขณะนี้รัฐบาลยังคงเก็บเงินกองทุนอยู่ การทุจริตจำนำข้าวและปัญหาราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ปัญหาน้ำท่วม และการจ่ายเงินชดเชยเยียวยา รวมไปถึงการทุจริตถุงยังชีพ ปัญหาราคาสินค้าแพง หรือ การขึ้นราคาก๊าซ LPG และ NGV นอกจากนี้ นายชวนนท์ ยังกล่าวเรียกร้องให้ ส.ส.กรุงเทพมหานคร ในส่วนของพรรคเพื่อไทย กลับมาดูแลปัญหาความเดือดร้อน เรื่องการจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม เพราะขณะนี้ทราบว่า ส่วนใหญ่เดินทางไปฮ่องกง เพื่อไปอวยพรวันเกิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

หวัง ปูพงสิทธิ์ คำภีร์

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประวัติคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

โพลเผย ประชาชนมีความพอใจ การทำงานของรัฐบาล-นายกฯ ลดลง


ขณะที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ควรแก้เฉพาะบางมาตราเท่านั้น
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ได้เผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ความพึงพอใจนายกรัฐมนตรี และผลงานรัฐบาล ในรอบ 9 เดือน พบว่า
    ในรอบ 3 เดือนแรก (ตุลาคม – ธันวาคม 2554) ประชาชนมีความพึงพอใจถึง ร้อยละ 68.50 แต่ในช่วงมกราคม – มีนาคม 2555 นั้นกลับมีค่าความพึงพอใจลดลงที่ร้อยละ 57.14 มาถึงในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2555 ได้ความพึงพอใจจากประชาชน เพียงร้อยละ 59.98
      ส่วนผลงานโดยรวมของรัฐบาล “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จากการเปรียบเทียบผลการสำรวจพบว่ารัฐบาลได้คะแนนลดลง ในระหว่างเดือน ตุลาคม 2554 – ธันวาคม 2554 มีคะแนน 6.24 คะแนน และในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2555 มีคะแนน 6.23 และผลการสำรวจล่าสุดในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2555 มีคะแนน 6.17 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน แต่ยังถือว่าผลการดำเนินงานของรัฐบาลประชาชนให้ พอผ่าน

    ขณะเดียวกันศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ถึงเรื่อง ความคิดเห็นต่อการปรับแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 พบว่า
    ประชาชนร้อยละ 45.4 คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบางมาตราอาจมีปัญหาจึงอยากให้แก้เป็นรายมาตราไป รองลงมาร้อยละ 25.2 คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้มีปัญหาจึงไม่จำเป็นต้องแก้ และมีเพียงร้อยละ 9.3 เท่านั้นที่ระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาและต้องแก้ทั้งฉบับ
ต่อข้อสอบถามว่า หากวันนี้เป็นวันลงประชามติเพื่อถามว่า ท่านจะสนับสนุนให้มีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ พบว่า ประชาชนร้อยละ 63.5 ไม่สนับสนุนให้มีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และมีเพียงร้อยละ 19.5 ที่สนับสนุนให้มีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ในขณะที่ร้อยละ 17.0 ไม่แสดงความเห็น
   ส่วนความคิดเห็นที่มีต่อแนวคิดในการจัดตั้งองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่จะให้มาทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 49.8 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดในการจัดตั้งองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และร้อยละ 26.6 เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว ในขณะที่ร้อยละ 23.6 ไม่แสดงความเห็น

วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สิทธิเด็ก

กฎหมายสิทธิเด็ก มีที่มาจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child)ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้กำหนดสิทธิพื้นฐานของเด็กไว้ 4 ประการ คือ

1.สิทธิที่จะมีชีวิตรอด เป็นสิทธิที่จะได้รับการเลี้ยงดูทั้งทางร่างกาย จิตใจ ตลอดจนที่อยู่อาศัยให้เกิดความปลอดภัย และต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาพจากบริการทางการแพทย์

2.สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา เด็กทุกคนต้องได้รับสิทธิรับการศึกษาที่ดี ได้รับโภชนาการที่เหมาะสม

3.สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง เป็นสิทธิที่เด็กทุกคนจะได้รับความคุ้มครองให้รอดพ้นจากการทารุณทุกรูปแบบ เช่น การทำร้าย การนำไปขาย ใช้แรงงานเด็ก หรือแสวงหาประโยชน์มิชอบจากเด็ก

4.สิทธิที่ในการมีส่วนร่วม มีสิทธิที่จะแสดงออกและแสดงความคิดเห็นต่อสังคมในเรื่องที่มีผลกระทบกับเด็ก กฎหมายสิทธิเด็กดังกล่าวปัจจุบันหลายประเทศได้ยอมรับและนำมาอนุวัติบัญญัติเป็นกฎหมายภายในของแต่ละประเทศสมาชิกเป็นจำนวนมาก และประเทศไทยก็รับหลักการดังกล่าวมาบัญญัติเป็นกฎหมายภายในชื่อว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการสงเคราะห์คุ้มครองสวัสดิภาพและป้องกันการละเมิดสิทธิเด็กไว้หลายประการ ครอบคลุมสิทธิเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้างต้น โดยสรุปประเด็นสำคัญดังนี้

1.คณะกรรมการคุ้มครองเด็ก กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการทำหน้าที่ดำเนินการและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องการสงเคราะห์คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติเด็กเพื่อดำเนินการให้การคุ้มครองสิทธิเด็กเกิดเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

2.การปกป้องคุ้มครองเด็ก กฎหมายได้กำหนดหน้าที่ของผู้ปกครองและบุคคลผู้เกี่ยวข้องให้ต้องปฏิบัติต่อเด็กที่เหมาะสมไว้อย่างชัดเจน และผู้ฝ่าฝืนย่อมมีโทษทั้งทางปกครองและทางอาญา เช่น ผู้ปกครอง กฎหมายกำหนดหน้าที่ต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตน ตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น และต้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนมิให้ตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ

ผู้ปกครองต้องไม่กระทำการดังต่อไปนี้
(1) ทอดทิ้งเด็กไว้ในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือสถานพยาบาล หรือไว้กับบุคคลที่รับจ้างเลี้ยงเด็ก หรือที่สาธารณะ หรือสถานที่ใด โดยเจตนาที่จะไม่รับเด็กกลับคืน

(2) ละทิ้งเด็กไว้ ณ สถานที่ใดๆ โดยไม่จัดให้มีการป้องกันดูแลสวัสดิภาพ หรือให้การเลี้ยงดูที่เหมาะสม

(3) จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิต หรือสุขภาพอนามัยจนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก

(4) ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการขัดขวางการเจริญเติบโต หรือพัฒนาการของเด็ก

(5) ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการเลี้ยงดูโดยมิชอบ

บุคคลทั่วไป กฎหมายบัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม คือ

(1) กระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก

(2) จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีวิต หรือการรักษาพยาบาลแก่เด็กที่อยู่ในความดูแลของตน จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก

(3) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด

(4) โฆษณาทางสื่อมวลชนหรือเผยแพร่ด้วยประการใด เพื่อรับเด็กหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ญาติของเด็ก เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการ หรือได้รับอนุญาตจากทางราชการแล้ว

(5) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทำด้วยประการใดให้เด็กไปเป็นขอทาน เด็กเร่ร่อน หรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการขอทาน หรือการกระทำผิด หรือกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก

(6) ใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงาน หรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก

(7) บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬา หรือให้กระทำการใด เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโต หรือพัฒนาการของเด็ก หรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก

(8) ใช้หรือยินยอมให้เด็กเล่นการพนันไม่ว่าชนิดใด หรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน สถานค้าประเวณี หรือสถานที่ที่ห้ามมิให้เด็กเข้า

(9) บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กแสดงหรือกระทำการอันมีลักษณะลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือเพื่อการใด

(10) จำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์

(11) ห้ามโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ

            กฎหมายคุ้มครองเด็กมีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าวเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม หากมีกฎหมายอื่นที่มีโทษหนักกว่าต้องลงโทษตามกฎหมายนั้น เช่น การทารุณเด็กได้รับอันตรายสาหัสหรือตายก็ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญาฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ซึ่งมีโทษจำคุกหกเดือนถึงสิบปี หรือโทษประหารชีวิต แล้วแต่กรณี

            นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดหน้าที่ของผู้พบเห็นหรือประสบพฤติการณ์ที่มีการทำทารุณกรรมต่อเด็กให้รีบแจ้งหรือรายงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งเหตุแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าตรวจค้นและมีอำนาจแยกตัวเด็กจากครอบครัวของเด็กเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กได้โดยเร็วที่สุด และกฎหมายก็บัญญัติคุ้มครองผู้แจ้งเหตุที่กระทำโดยสุจริตให้ได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครองแต่อย่างใด





ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

นาซ่า...ฝ่าหมอกควันการเมือง?